 |
พระอุโบสถที่ผสมผสานศิลปะ 4 ชาติ |
|
 |
ปราจีนบุรี เป็นจังหวัดที่มีสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจหลากหลายแห่ง ทั้งสถานที่เที่ยวทางธรรมชาติ ป่าเขาลำเนาไพร โบราณสถาน พิพิธภัณฑ์ต่างๆ แหล่งท่องเที่ยววิถีชีวิตชุมชน รวมถึงศาสนสถาน ที่พัฒนามาเป็นแหล่งท่องเที่ยว ที่นอกจากจะได้ทั้งความเพลิดเพลินแล้ว ก็ยังได้รับความสบายใจในการเข้าไปนมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์อีกด้วย
สำหรับในพื้นที่เมืองปราจีนบุรี ที่มีหลักฐานในการตั้งถิ่นฐานของกลุ่มคนตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งก็ได้รับอิทธิพลจากหลากหลายวัฒนธรรมและความเชื่อ ทำให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านนับถือก็มีอยู่หลากหลายแห่ง โดยสถานที่สำคัญๆ ได้แก่ วัดแก้วพิจิตร ต้นโพธิ์ศรีมหาโพธิ และ รอยพระพุทธบาท โบราณสถานสระมรกต
|
 |
หลวงพ่ออภัย พระประธานภายในโบสถ์ |
|
 |
วัดแก้วพิจิตร โบสถ์งามสี่แผ่นดิน
วัดแก้วพิจิตร เป็นเก่าแก่ที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 โดยเศรษฐีชาวปราจีนบุรี ต่อมาเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้สร้างบูรณะวัดแห่งนี้ และสร้างพระอุโบสถหลังใหม่เพื่อทดแทนหลังเดิมที่สร้างด้วยไม้แล้วผุพังไป พระอุโบสถหลังใหม่สร้างด้วยการก่ออิฐถือปูน ซึ่งถือเป็นหลังแรกของจังหวัดปราจีนบุรี
พระประธานในพระอุโบสถ เป็นพระปางอภัยทาน สร้างเมื่อปี พ.ศ.2462 โดยเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า “หลวงพ่ออภัยวงศ์” หรือ “หลวงพ่ออภัย” เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้สร้าง
|
 |
พิพิธภัณฑ์สถานวัดแก้วพิจิตร |
|
 |
พระอุโบสถหลังนี้มีความน่าสนใจคือ สถาปัตยกรรมและลวดลายประดับอาคารเป็นการผสมผสานระหว่างศิลปะไทย จีน ยุโรป และเขมร ฝาผนังด้านนอกพระอุโบสถมีภาพปูนปั้นเรื่องรามเกียรติ์ ส่วนฝาผนังภายในเป็นภาพวาดบนแผ่นผ้าเกี่ยวกับเรื่องพระพุทธศาสนา เช่น ทศชาติชาดก มารผจญ ซึ่งวาดโดยช่างหลวงในสมัยรัชกาลที่ 6 และยังมีศิลปกรรมแบบไทยประดับอยู่ทั่ว ศิลปะแบบจีน เห็นได้จากปูนประดับลายมังกร อยู่ที่บริเวณเชิงบันไดขึ้นพระอุโบสถ ศิลปะยุโรป ดูได้จากเสาแบบโรมันที่มีอยู่ทั้งด้านในและด้านนอกพระอุโบสถ ส่วนศิลปะแบบเขมร เห็นได้จากซุ้มประตูทางเข้าพระอุโบสถทั้งสี่ด้าน
ที่ด้านหน้าของพระอุโบสถ มีอาคารเรียนหนังสือไทยและนักธรรมบาลี สร้างเป็นอาคารคอนกรีตตามสถาปัตยกรรมยุโรป มีสถูปโดมอยู่ด้านบน ซึ่งปัจจุบันได้ทำเป็นพิพิธภัณฑ์สถานวัดแก้วพิจิตร พิพิธภัณฑ์มีชีวิตที่รวบรวมเราสิ่งของต่างๆ เข้าไว้ด้วยกัน ทั้งสิ่งของเก่า เครื่องใช้ไม้สอย รวมถึงมีการรวบรวมคำสุภาษิตไทยไว้ตามมุมต่างๆ ด้วย
|
 |
ต้นโพธิ์ศรีมหาโพธิ |
|
 |
ต้นโพธิ์ศรีมหาโพธิ สัญลักษณ์ปราจีนบุรี
ถ้าสังเกตดูสัญลักษณ์ของจังหวัดปราจีนบุรี ก็จะเห็นว่าเป็นต้นโพธิ์ ซึ่งก็คือ ต้นโพธิ์ศรีมหาโพธิ ที่วัดต้นโพธิ์ศรีมหาโพธิ อำเภอศรีมโหสถ และยังถือเป็นต้นไม้คู่บ้านคู่เมืองของปราจีนบุรีอีกด้วย
ต้นโพธิ์ศรีมหาโพธิ ถือว่าเป็นต้นโพธิ์ที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย เชื่อกันว่าเป็นต้นโพธิ์ที่เป็นหน่อจากต้นพระศรีมหาโพธิ์ สถานที่ตรัสรู้จากพุทธคยา ประเทศอินเดีย มีอายุกว่า 2,000 ปี ต้นโพธิ์ต้นนี้มีขนาดเส้นรอบวงของลำต้น 20 เมตร สูง 30 เมตร มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 25 เมตร
มีตำนานเกี่ยวกับเรื่องนี้กล่าวไว้ว่า พระเจ้าทวานัมปะยะดิษฐ์ เจ้าครองเมืองศรีมโหสถในสมัยขอมเรืองอำนาจ ทรงเลื่อมใสในพุทธศาสนา จึงได้ส่งคณะทูตเดินทางไปขอกิ่งต้นโพธิ์ที่พระพุทธเจ้าประทับเมื่อคราวตรัสรู้ จากเจ้าผู้ครองนครปาตลีบุตร ประเทศอินเดีย แล้วนำกิ่งโพธิ์นั้นมาปลูกที่วัดต้นโพธิ์ศรีมหาโพธิแห่งนี้
|
 |
นมัสการและปิดทองที่ต้นโพธิ์ |
|
 |
บริเวณใต้ต้นโพธิ์ประดิษฐานพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์เป็นพระประธาน มีบริเวณให้คนเข้ามาสักการะพระประธานและเข้าไปปิดทองที่ต้นโพธิ์ศรีมหาโพธิได้ ส่วนรอบบริเวณนั้นทำเป็นรั้งระเบียงคตล้อมรอบ ประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่างๆ รวมถึงรูปหล่อเหมือนของเจ้าอาวาสวัดต้นโพธิ์ศรีมหาโพธิตั้งแต่สมัยก่อน
ภายในบริเวณวัด ฝั่งตรงข้ามกับต้นโพธิ์ ยังมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำคัญอยู่อีก คือ วิหารพระคันธารราช ซึ่งเป็นวิหารทรงตรีมุข ด้านในประดิษฐานรูปหล่อจำลอง หลวงพ่อทวดวัดช้างไห้ พระพุทธจารย์โต พรหมรังสี และจำลองพระพุทธรูปสำคัญของเมืองไทย คือหลวงพ่อโสธร และหลวงพ่อโตวัดบ้านแหลม ส่วนพระประธานคือพระคันธารราช ซึ่งชาวเมืองศรีมโหสถให้ความเคารพนับถือเป็นจำนวนมาก
|
 |
พระคันธารราช พระประธานในวิหาร |
|
 |
รอยพระพุทธบาทคู่ โบราณสถานสระมรกต
เมื่อ พ.ศ.2529 ระหว่างการขุดแต่งโบราณสถานสระมรกต ซึ่งเป็นกลุ่มโบราณสถานทางพุทธศาสนา ที่เป็นการก่อสร้างซ้อนทับกันมาหลายสมัย เริ่มตั้งแต่ก่อนพุทธศตวรรษที่ 11 ถึงพุทธศตวรรษที่ 18 ประกอบด้วยสิ่งก่อสร้างศิลาแลงและอิฐ ที่คงเหลือรากฐานเฉพาะอาคาร มีการค้นพบ รอยพระพุทธบาทคู่ สลักอยู่บนพื้นศิลาแลง
|
 |
รอยพระพุทธบาทคู่ |
|
 |
ลักษณะของพระบาททั้งคู่ทำเป็นรอยเท้ามนุษย์ตามธรรมชาติ มีปลายนิ้วเท้าเรียงไม่เสมอกัน และที่ฝ่าพระบาททั้งสองข้างสลักรูปธรรมจักรนูน ระหว่างรอยพระบาทมีการกากบาทสลักเป็นร่องลึกและมีหลุมอยู่ตรงกลาง สันนิษฐานว่ามีไว้เพื่อปักฉัตรหรือร่ม รอยพระพุทธบาทคู่ที่ค้นพบนี้ คาดว่าจะสร้างขึ้นในสมัยทวารวดีถึงสมัยลพบุรี ราวพุทธศตวรรษที่ 11-16 ซึ่งนับเป็นรอยพระพุทธบาทที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย
บริเวณใกล้กับรอยพระพุทธบาท มีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ที่มีการค้นพบพระพุทธรูปและโบราณวัตถุเป็นจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบัน ในบริเวณนี้มีการสร้างหลังคาคลุมรอยพระพุทธบาทไว้ และจัดพื้นที่ไว้ให้ประชาชนเข้าไปสักการะได้
|
 |
ใกล้กับรอยพระพุทธบาทมีบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ |
|
 |
ส่วนใกล้กับบริเวณโบราณสถานสระมรกต ก็เป็นพื้นที่ของ วัดสระมรกต ที่เปิดให้เข้าไปนมัสการพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์หลายองค์ อาทิ พระพุทธมหามงคลมรกต ประดิษฐานอยู่ภายในศาลา พระพุทธเมตตา ที่จำลองมาจากพุทธคยา ประดิษฐานอยู่ภายในวิหาร และต้นพระศรีมหาโพธิ์พุทธคยา จากประเทศอินเดีย
การเข้าไปนมัสการสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามสถานที่ต่างๆ นอกจากจะได้เปิดหูเปิดตากับความรู้ที่เพิ่มมากขึ้นแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่จะได้กลับมาอย่างแน่นอนก็คือความไม่รุ่มร้อน ความสงบ และสบายใจ
|
 |
พระพุทธเมตตา ประดิษฐานอยู่ในพระวิหาร |
|
|