
ไม่ได้งงกับเรื่องโรดแมปที่จะมีแผนปรองดองอะไรกับใครเขา แต่ความสนใจของคนที่ใช้สองตามองฟ้าฝันหาดวงดาว ส่วนสองเท้าก็ยังก้าวเดินติดดินอยู่ โรดแมปที่ดูก็เลยมีแต่แผนที่ถนนที่จะไปตามสถานที่ท่องเที่ยว กับหาดูพวกของดองที่กินแล้วจี๊ดจ๊าดกระชากใจ ที่คงไม่มีอะไรเกี่ยวดองกับพวกแผนปรองดอง ซึ่งก็ยังไม่ค่อยแน่ว่าเป็นแผนที่จะถูกปองหรือถูกดอง

เมื่อสองสามวันก่อนไปอยุธยามา ได้ยินว่าเขาเปิดตลาดน้ำที่ใหม่เรียกชื่อว่า ตลาดน้ำอโยธยา กลัวตกข่าวเลยขอไปดูให้เห็นกับตาสักหน่อย ไปมาแล้วก็ได้เห็นว่าเขาทำอะไรไว้หลายอย่างน่าจะได้ใจคนชอบเที่ยว เพราะไปแล้วก็ได้ทั้งที่เที่ยว ที่กิน แล้วก็ที่ซื้อของ ขับรถไปก็ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ แค่ชั่วโมงกว่า ๆ ก็ถึง

เพื่อไม่ให้ต้องรีบร้อนเดินทางจนเกินไป ก็เลยออกรถล่วงหน้าไปอยุธยาเสียหนึ่งวันก่อน ไปหาที่นอนเล่นริมแม่น้ำลพบุรีก่อนสักคืน ย้อนนึกถึงบ้านเรือนไทยที่เคยไปนอนมาเมื่อคราวก่อนนู้น ถ้าย้อนเวลานับกลับไปก็ประมาณปีครึ่งพอดี ๆ ที่ที่ว่านี้ก็คือ อโยธาราวิลเลจ (อ่านเรื่องเดิม (บาง) อโยธารา บ้านไทยเมืองอยุธยาริมสายน้ำลพบุรี วันสบายที่ผ่านปล่อยกาลเวลา

แค่คำเขียนก็ยังชวนงง ไปอยุธยา นอนที่อโยธารา เดินเที่ยวตลาดน้ำอโยธยา เปลี่ยนไปเป็นคำพูดยิ่งยากขึ้นอีก เพราะตอนที่มาเล่าปากเปล่าให้เพื่อนฟังเวลาพูดถึง อยุธยา-อโยธารา-อโยธยา ดูเหมือนลิ้นจะงงสลับสับสนพัวพันกันไปหมด เวลาแต่ละปีก็ช่างผ่านไปรวดเร็วเสียเหลือเกิน ต้นไม้ที่ไปมาคราวที่แล้วยังเห็นเป็นต้นเล็ก ๆ ไปคราวนี้ก็เติบโตให้ดอกให้ผลกันแล้ว ที่เห็นเปลี่ยนแปลงไปอีกอย่างก็คือเดี๋ยวนี้ที่นี่เขามีห้องประชุมติดแอร์แล้วด้วย
อากาศร้อน ๆ แบบนี้ เลยทำตัวขี้เกียจไม่ยอมลุกขึ้นมากินข้าวเช้า คิดว่าเดี๋ยวไปหาอะไรกินเอาที่ตลาดก็ได้ เส้นทางไปตลาดอโยธยา ถ้าวิ่งรถจากถนนสายเอเชียเข้าตัวเมืองอยุธยาทางถนนโรจนะ ถึงวงเวียนเจดีย์เก่าสูง ๆ ที่เรียกกันว่าเจดีย์วัดสามปลื้มก็ให้เลี้ยวขวา ถ้าข้ามสะพานมาจากฝั่งเกาะเมืองถึงวงเวียนนี้ก็ให้เลี้ยวซ้าย ทางที่จะไปวัดมเหยงคณ์นั่นแหละ เลี้ยวไปได้ประมาณ 600 เมตร ทางขวามือก่อนถึงวัดมเหยงคณ์จะมีทางแยกเข้าตลาดน้ำอโยธยา ป้ายปากทางเข้าเขาทำใหญ่โตไม่น่าจะขับรถเลยกัน

เลี้ยวเข้าไปประมาณ 200 เมตร ก็จะเจอกับลานจอดรถ เจอหัวหมู่ทะลวงฟันยืนถือโทรโข่งอยู่เป็นอันว่าไปไม่ผิดงาน ที่นี่เขาไม่เก็บค่าจอดรถ แต่ถ้าเจอที่จอดรถแบบล้อมรั้วมีคนคอยยืนโบกเรียกรถแล้วขึ้นป้ายว่ารับฝากรถ เผลอตัวเลี้ยวรถเข้าไปจอดแบบนั้นก็ต้องเสียเงิน หน้าร้อนแบบนี้ถ้าไปแต่เช้า ๆ หน่อย แนะนำให้ขับรถเลยถัดเข้าไปอีก เพราะข้างในยังมีที่จอดรถแบบไม่เสียเงินอยู่ แบบที่ไม่ต้องเดินไกล ร้อนแล้งแบบนี้ลมบึงน้ำยังเอาไม่อยู่ ต้องลองไปเดินดูเองแล้วจะรู้ว่ามันร้อนอย่างไร

ที่เที่ยวตรงนี้ไม่ใช่ของที่มีขึ้นมาใหม่ แต่ก่อนแต่ไรก็เป็นที่เที่ยวที่เรียกกันว่า หมู่บ้านช้างและโชว์งู มีการแสดงของช้างและของงู มีช้างไว้ให้ขี่เที่ยว แล้วก็มีเสือโคร่งไว้ให้ถ่ายรูปคู่ ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็ยังมีอยู่เหมือนเดิม ที่ทำเพิ่มขึ้นมาก็คือตลาดน้ำ ไม่รู้ว่าคนสนใจไปเดินเที่ยวตลาดน้ำกันจนหมดหรืออย่างไร งานถ่ายรูปไม่มีเข้า เสือลายพาดกลอนก็เลยต้องกลายเป็นเสือหลับพาดแคร่

จะไปตลาดน้ำอโยธยาไม่ต้องรอให้ถึงวันหยุด ว่างวันไหนก็ไปกันได้เพราะเขาเปิดขายอยู่ทุกวัน ตอนนี้ยังไม่สมบูรณ์เต็มร้อยดี ส่วนที่ขายก็ขายกันไป ส่วนที่ยังแต่งเติมเสริมต่อก็ทำกันไป แบ่งพื้นที่ออกเป็นโซนต่าง ๆ แล้วเอาชื่อตลาดเก่าแก่ของจังหวัดอยุธยามาเรียกเป็นชื่อโซน เช่น ตลาดท่าเรือ ตลาดนครหลวง ตลาดบางซ้าย ตลาดบางบาล ตลาดบ้านแพรก ตลาดบ้านแพน ตลาดบางไทร ตลาดบางปะหัน ตลาดลาดชะโด ตลาดภาชี ตลาดมหาราช ตลาดเจ้าพรหม ตลาดลาดบัวหลวง ตลาดผักไห่ ตลาดบัวชม เป็นต้น

จากรูปผังด้านบน เส้นทางเข้าจะอยู่ทางฝั่งซ้ายมือ ถ้ารีบจอดรถเสียตั้งแต่ต้นทางแล้วก็ต้องเดินชมบรรยากาศบึงน้ำเข้ามาไกลก่อนที่จะถึงตัวตลาด ขาเข้าไม่ค่อยเท่าไร แต่ขากลับออกไปตอนที่เมื่อยจะไม่ค่อยสนุก ถ้าดูตามผังจะเห็นฝั่งขวามือยังมีลานจอดรถอยู่อีก 2 แนว ส่วนพื้นที่ตัวตลาดเขาออกแบบให้เดินเป็นวงจนครบรอบ ถ้าคิดว่าเดินแล้วสนุกก็ตามแต่จะเพลินชอบกัน

ตลาดที่นี่เขาทำร้านค้าเป็นห้องแถวไม้ที่มีทางเดินอยู่ริมน้ำ เหมือนร้านค้าสมัยก่อนที่หันหน้าออกแม่น้ำลำคลอง เพราะคนจะไปไหนมาไหนกันทางเรือ ถนนหนทางยังไม่ค่อยมีให้ใช้

ชั้นบนของห้องแถวบางส่วนทำให้ดูคล้ายเป็นเล่าเต๊ง ร้านค้าแบบห้องแถวทั้งหมดนี้ถ้าเปิดเต็มโครงการก็จะมีอยู่ประมาณ 160 ห้อง

ของซื้อของขายยังไม่หมด เพราะในน้ำก็ยังมีร้านค้าแบบที่ลอยเรือมาขายกันอีกไม่น่าจะต่ำกว่า 40 ลำ กระจายกันอยู่ในตลาดน้ำ ซึ่งเท่าที่เห็นจะขายเป็นพวกอาหารคาว ขนมหวาน และเครื่องดื่ม

พื้นที่บนบกยังเติมเต็มไปด้วยลานค้าแบบชาวบ้านอีก เห็นยายใส่เสื้อคอกระเช้ามานั่งปิ้งกล้วยขาย ดูแล้วก็เป็นธรรมชาติดี คงไม่มีใครจับมาแต่งเพื่อทำให้ดูเหมือน

ที่นั่งพักและที่นั่งกินมีให้ตลอดแนวทางเดิน ก็ราวทางเดินริมน้ำนั่นแหละ ยิ่งถ้าซื้อจากเรือก็ถือโอกาสนั่งกินตรงนั้นเลย แบบที่เป็นโต๊ะเก้าอี้ก็มีจัดไว้ให้นั่งเป็นระยะ ๆ ได้มุมมองและรับลมริมน้ำด้วย หลายร้านก็ตั้งโต๊ะเก้าอี้ไว้ในร้าน จะได้สะดวกไม่ต้องไปเดินตามหาเก็บถ้วยชาม

ให้สมกับที่เป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำ เมื่อในนามีข้าวได้ ในน้ำก็ต้องมีปลาด้วย ปลาที่นี่เท่าที่ได้เห็นก็เป็นปลาดุก ตัวยังเล็ก ๆ อยู่ วันที่ไปยังไม่เห็นมีคนเอาอาหารปลาหรือขนมปังมาขายอย่างเป็นการเป็นงาน คนก็เลยยังไม่ค่อยได้ไปนั่งให้อาหารปลากัน พาเด็กเล็กไปที่นี่อาจต้องระมัดระวังเพิ่มขึ้นอีกนิด เพราะป้ายบอกระดับน้ำว่าอยู่ที่ความลึก 3 เมตร ผู้ใหญ่ว่ายน้ำไม่เป็นก็ต้องระวังพลาดด้วยเหมือนกัน

พื้นที่แต่ละส่วนทั้งที่อยู่ริมน้ำและที่อยู่กลางน้ำ ถูกเชื่อมต่อถึงกันด้วยทางเดินที่เป็นสะพานไม้ ทุกมุมทางเดินมีถังขยะใส่ถุงดำตั้งวางไว้ ถ้าทุกคนช่วยกันทิ้งอย่างเป็นที่เป็นทาง ที่นี่ก็คงจะรักษาความสะอาดไว้ได้ไม่เพียงแต่ช่วงแรก ๆ นี้เท่านั้น

ตรงเกาะใหญ่กลางน้ำใช้เป็นเวทีการแสดงทางศิลปวัฒนธรรม ซึ่งจะมีการแสดงเป็นรอบ ๆ ตลอดทั้งวัน มีอยู่รอบหนึ่งที่จะเป็นรำวง ซึ่งเชิญชวนให้คนที่ไปเที่ยวร่วมกันร่ายรำให้เป็นที่สนุกสนาน กลางคืนประมาณ 1 ทุ่ม จะมีการแสดงแสง สี เสียง ไม่ได้ทนรอดูอยู่จนค่ำเลยไม่มีภาพบรรยากาศมาฝาก

แพใหญ่อยู่กลางผืนน้ำ มีชื่อเรียกว่า ตลาดผักไห่ ดูจะเป็นแพที่ช่วยสร้างความผ่อนคลายสบายตัวให้กับหลาย ๆ คน

เพราะที่นี่มีทั้งบริการนวดแผนไทย และสปาเท้า อยู่บนแพกลางสายน้ำ หลายคนเลือกการนวดฝ่าเท้า เพราะนอนรับลมเย็นสบาย ๆ เผลอหลับไปเลยก็ยังได้ ถ้านวดตัวต้องปรับเปลี่ยนอริยาบทหลายท่าทางทำให้หลับไม่ลง ส่วนสปาเท้าได้แต่นั่ง นอนไม่ได้ แถมโดนปลาตอดจั๊กกะจี้เท้าอีกต่างหาก

ตลาดบัวชมอยู่กลางน้ำเหมือนกันต้องเดินข้ามสะพานไป ตลาดนี้ของกินจะขายกันอยู่ในลำเรือ คนขายจะปูเสื่อบนพื้นไว้ให้ลูกค้านั่ง ทำขายกันในเรือตรงนั้น ทำเสร็จก็ส่งขึ้นมากินกันบนฝั่งตรงนั้นเลย ไม่ต้องเสียเวลาเดินไปไหน

มีอยู่อีกเกาะหนึ่ง หมู่เรือนไทยที่สร้างแขวนป้ายว่าเป็น คุ้มขุนแผน ส่วนนี้น่าจะตั้งใจทำให้เป็นหอศิลป์ ข้างในมีอะไรอยู่บ้างมากน้อยแค่ไหนไม่รู้เหมือนกัน ยังไม่เห็นมีใครเดินข้ามไปดูกันเลยสักคน

สร้างภาพให้เห็นบรรยากาศรวม ๆ ทั่ว ๆ แล้ว คราวนี้ก็จะพาเดินดูตลาดกันสักที ร้านไหนไม่ได้ติดภาพติดเรื่องราวมาก็ขออภัยมาตรงนี้ เพราะคงเก็บเอามาได้ไม่ถ้วนทั่ว ด้วยความที่ยังไม่ได้กินข้าวเช้ามา พาเดินหาของกินก่อนเลยก็แล้วกัน ไปเริ่มต้นทางเดินดูแถว ๆ ลานร้านค้าของชาวบ้านที่นั่งพื้นขายกันอยู่ บางเจ้าของที่เอามาขายคนรุ่นใหม่ไม่ค่อยคุ้นเคยเลยถูกมองข้าม อย่างเจ้านี้เห็นยังมีไข่เน่าที่ผลสีดำ ๆ เอามาขาย เด็ก ๆ เดี๋ยวนี้แค่ได้ยินชื่อก็ไม่กล้าลองลิ้มรส ทั้ง ๆ ที่หวานอร่อยดี

สาวคนนี้มือถือไม้อยู่ตลอดเวลา เห็นทีแรกก็เลยนึกว่าท่าทางคงจะดุ แต่พอแอบเห็นรอยยิ้มก็เลยรู้ว่าไม่ใช่ ที่ต้องถือไม้เพราะต้องคอยปัดแมลงวันที่ชอบมาดอมดมปลาแดดเดียว แต่ถ้าไปทำท่าทางไม่ค่อยเข้าที ไม้ก็อาจปัดพลาดไปโดนคนได้เหมือนกัน

ยิ้มนุ่ม ๆ แบบนี้ เหมือนจะบอกว่าน้ำพริกที่ขายน่ะถึงจะเผ็ดก็เป็นแบบอร่อยนุ่มนวล ส่วนไช้โป๊วนั้นก็น่าจะหวานกำลังดี

นอกจากจะมีความเก่งบวกน่ารักแล้ว ยังมีความขยันตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ตะโก้บนใบตองทำออกมาได้พอดีกำลังชวนกิน

เห็นสาวคนขายแล้ว ก็รู้สึกไปเองได้เลยว่าขนมหม้อแกงน่าจะหวานตั้งแต่ยังไม่ทันได้ชิม ว่าแต่ว่าขนมชนิดนี้ไปที่ไหน ๆ ก็เห็นทำใส่ถาดขาย แล้วทำไมถึงได้เรียกกันว่าขนมหม้อแกง

ช่วยกันคนละไม้คนละมือทั้งคุณแม่ ลูกสาว และลูกชาย ทำข้าวเกรียบปากหม้อขาย ใส่ความตั้งใจลงไปอย่างนี้ หน้าตาและรสชาติก็ต้องออกมาดี

เด็กตัวเล็กตัวน้อยรู้จักทำขนมมานั่งขาย ร้านนี้เป็นขนมตาลและขนมกล้วย มีทั้งแบบนึ่งใส่ถ้วย แล้วก็นึ่งใส่กรวยใบตอง แต่สงสัยว่าแคร่ที่วางของขายทำไมถึงเอียงไปข้างหนึ่ง

ไอศกรีมแท่งแบบย้อนยุค จะให้ได้อารมณ์ดั้งเดิมก็ต้องเรียกว่าไอติม หรือ ไอ้ติม นั่นเลย ทำเป็นแท่งสี่เหลี่ยมยาว พอมีคนซื้อก็เอามีดมาตัดท่อนแบ่งขาย ตัดแล้วก็เอาไม้เสียบให้ถือกิน สมัยใหม่เขามีกรวยพลาสติกรองก้น กลัวกินไม่ทันแล้วไอติมละลาย กันน้ำไอติมหกใส่เปื้อนเสื้อผ้าเลอะเทอะ

ที่เห็นขายกันอยู่หลายเจ้าก็เป็นไอศกรีมกะทิ และไอศกรีมมะพร้าวอ่อน ที่เอาเนื้อและน้ำมะพร้าวอ่อนมาผสมในการทำด้วย แล้วเดี๋ยวนี้ก็ไม่ตักใส่ถ้วยแก้วหรือถ้วยพลาสติกขายกันแล้ว แต่ใช้ตักใส่กะลามะพร้าวอ่อนแทน ชอบไอศกรีมแบบนี้เพราะมีท้อปปิ้งแบบไทย ๆ อย่าง ข้าวเหนียว ลูกชิด มะยมเชื่อม มันเชื่อม มะม่วงเชื่อม สับปะรดเชื่อม ให้เลือกใส่เป็นเครื่องเคียง

ยกระดับขึ้นมาอีก (เดี๋ยวนี้ทำอะไรต่างจากเดิมนิดหน่อยก็ต้องเรียกว่า ยกระดับ กันแล้ว) ก็เป็นไอศกรีมทอด ขึ้นป้าย ตี๋ ดอกสะเดา ขายอยู่ก้อนละ 20 บาท

ร้านนี้ขายขนมหวานน้ำแข็งใส่น้ำกะทิอย่าง ทับทิมกรอบ สลิ่ม ลอดช่อง เผือก แตงไทย ข้าวเหนียวดำ มะพร้าวกะทิ แห้ว และน้ำพั้นช์ เจออากาศร้อน ๆ เข้าไป อยากจะดับเบิ้ลจากสแตนดาร์ดเป็น 2 ถ้วย

สีสันการตกแต่งร้านน้ำแข็งไสอีกร้านหนึ่ง ต้องให้สีที่ดูหวานเหมือนกับขนมที่ขาย

ตกแต่งร้านแบบนี้จะเรียกว่าเป็นแบบย้อนยุค หรือว่าแบบเก๋ไก๋ดี เพราะของบางอย่างสมัยก่อนก็ยังไม่น่าจะมี แต่ที่สังเกตเห็นคอนเซ็ปต์ของการตกแต่งร้านขายขนมหวานน้ำแข็งไสแบบนี้ ก็คือจะต้องหาอะไรที่มีสีสันสด ๆ สะดุดตามาใช้ประกอบ แต่ถ้านุ่งเสื้อผ้าโทนหลากสีสด ๆ แบบนี้มา เพื่อน ๆ ก็จะบอกว่า สลิ่มจัง

มาถึงร้านในเรือลำนี้ต้องตัดสินใจแล้วว่าเรือกับคนขายอย่างไหนจะสวยกว่ากัน ออกแบบตัวเรือและหลังคาทรงไทยมาได้สวยสะดุดตา ในเรือขายเฉาก๊วยและขนมหวานถ้วยละ 20 บาท ส่วนหม้อดินข้างตัวใช้นึ่งห่อหมก ทำใส่หม้อดินเล็ก ๆ ขายหม้อละ 30 บาท

ทองม้วนกรอบ และทองม้วนสด ทำกันสดใหม่ในเรือ ทองม้วนสดดูหน้าตาน่ากินมากกว่า ไปรู้จักและลองกินหนแรกที่เมืองกาญจนบุรีนู่น สีออกเขียว ๆ หน่อย มีชิ้นเนื้อมะพร้าวอ่อนและโรยงาลงไปด้วย

โรตีสายไหมที่กลายเป็นขนมท้องถิ่นของอยุธยาไปแล้ว มีให้เลือกซื้อทั้งที่ขายอยู่ในร้านค้าบนบก และที่ลอยเรืออยู่ในน้ำ ส่วนใหญ่ก็จะนั่งทำแผ่นแป้งกันสด ๆ ร้อน ๆ โรตีสายไหมที่อยุธยาทำขายกันอยู่หลายร้านจนเลือกซื้อได้ไม่ถูก ส่วนใหญ่ก็จะไปต้นแหล่งกันแถว ๆ หน้าโรงพยาบาลอยุธยา มีอยู่ร้านหนึ่งเห็นคนและรถเข้าคิวรอซื้อ เวลาไปก็จะไปต่อคิวรอซื้อกับเขาที่ร้านนี้ด้วยเหมือนกัน คนเรานี่ก็แปลกร้านอื่นว่าง ๆ ก็ไม่ไปซื้อกัน ร้านที่ว่านี้ชื่อร้านอาบีดีน-ประนอม แสงอรุณ คราวนี้ก็ไปแวะซื้อเอามาฝากคนที่กรุงเทพฯ หลายถุง

ร้านขนมไข่ใจรัก คงทำด้วยใจรักกันจริง ๆ เพราะเห็นคนในร้านยิ้มแย้มแจ่มใสกันทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ใส่อารมณ์ดี ๆ ลงไปในขนมแบบนี้ ขนมไข่ก็ต้องทำออกมาได้นุ่มหวาน

อากาศร้อน ๆ ชวนให้คอแห้ง หาน้ำดื่มช่วยให้สดชื่นกันหน่อย น้ำตาลสดหวานแบบธรรมชาติขายอยู่ในลำเรือ ถึงจะเป็นพ่อค้าหนุ่มใหญ่แต่น้ำตาลสดใส่น้ำแข็งก็หวานเย็นชื่นใจ ตักใส่กระบอกไม้ไผ่เสียบหลอดดูดให้ขาย 20 บาท

ร้านขายเครื่องดื่มแบบกาแฟโบราณมีอยู่หลายร้านทั้งบนบกและในเรือ หลายร้านก็ตั้งชื่อให้ดูเก๋ไก๋อย่าง สายทอง หรือโรงเตี๊ยม ฟังดูชื่อแต่แรกแล้วก็ไม่นึกว่าจะเป็นร้านขายกาแฟ จะเลือกซื้อเพราะหน้าตากาแฟหรือหน้าตาคนขายก็ตามแต่ชอบใจ หลายร้านที่ชงใส่กระบอกไม้ไผ่หรือถ้วยดินเผา แทนแก้วกระดาษหรือพลาสติก

ถ้าไม่ชอบดื่มพวกชากาแฟ พวกน้ำหวาน น้ำปั่น อื่น ๆ ก็พอมีขายให้เป็นทางเลือก รวมไปถึงพวกน้ำผัก น้ำผลไม้ เป็นที่น่าสังเกตว่าร้านค้าพวกนี้ เดี๋ยวนี้คนขายเป็นคนหนุ่มคนสาวด้วยกันทั้งนั้น เห็นแล้วก็น่าชื่นชมสนับสนุน

ร้านนี้ดูป้ายชื่อแล้วเดาไม่ถูกว่าจะขายอะไร ชื่อร้านตั้งใจมานะ ชะโงกหน้าเข้าไปดูแล้วเห็นสาวกำลังปั่นน้ำผลไม้ขาย ผลไม้ที่ใช้หน้าตาออกไปทางต่างชาติหน่อย อยากสั่งกินบ้างก็เรียกชื่อไม่ค่อยเป็น อย่างเช่น ทูเบอร์รี ทรีเบอร์รี เรดเบอร์รี กีวีเบอร์รี กีวีแอปเปิลพาย เวรีออเร้นจ์ บานาน่าบูม บานาน่าสวีท โกโก้บานาน่า ปาปาย่าเชอเบ็ท เฟรชชี่แครอท เป็นต้น ที่กลัวก็คือสั่งแล้วไม่รู้ว่าหน้าตาและรสชาติจะออกมาเป็นอย่างไร

ที่อยุธยาก็มีชาชัก ดูตามวัยคนชักแล้วก็คงมากประสบการณ์ในการชัก ก็เลยมีการชักทั้ง ชาชักลังกาวี โกปี๊ชัก และโกโก้ชัก เจ้าของร้านถ้าได้ยินมาไม่ผิดก็น่าจะชื่อ คุณอนุชิต

ชักเสร็จแล้วก็จะเทเครื่องดื่มใส่ถ้วยดินเผา ขายรวมกับน้ำในราคา 40 บาท ส่วนที่ยังนึกหน้าตาไม่ออกก็คงเป็นเครื่องดื่มที่เรียกว่า จ้ำบ๊ะ กับ หน่อเค้า วันหลังจะต้องหาโอกาสไปขอดูหน้าตาสักหน่อย

เครื่องดื่มบรรจุไหแบบนี้ควรจะเป็นน้ำเมาแบบไทย ๆ ที่เรียกว่า อุ เป็นอุข้าวกล้องยี่ห้อบักหำน้อยที่รู้สึกว่าจะคุ้นตาเคยเห็นอยู่ทางอีสาน ขายที่นี่ไหละ 150 บาท แถมหลอดดูดก้านไผ่ไว้ให้เสียบดูด
|