เมื่อวันหยุดเทศกาลเข้าพรรษา นัดเพื่อนฝูงพากันไปเที่ยววัดพระบาทห้วยต้ม ต้องเดินทางจากกรุงเทพฯ ไปจังหวัดตาก เข้าอำเภอเถิน ข้ามเขาลี้อันคดเคี้ยว ลงจากเขาแล้วจึงจะถึงวัดพระบาทห้วยต้ม ของชนเผ่าปกากะญอ หรือกระเหรี่ยง ที่ อ.ลี้ จ.ลำพูน
พูดถึงเขาลี้ คิดถึงสมัยเป็นเด็กนักเรียน ชั้นมัธยมปีที่ 1 เมื่อ 50 ปีก่อน คุณครูเคยพาทัศนาจร (สมัยนี้เรียกทัศนศึกษา) ต้องสะบักสบอมข้ามเขาลี้ลูกนี้ ยุคนั้นทางยังเป็นหินขรุขระ ไม่ใช่ถนนลูกรังแต่เป็นถนนหิน ๆ ล้วนๆ ความเป็นเด็กนักเรียนก็สนุกสนานกับการนั่งรถ กระดก กระเด้ง กระดอน จึงจำได้ติดตามาจนถึงบัดนี้
จากอำเภอเถินไปจังหวัดเชียงใหม่ สมัยก่อนใครจะไปเชียงใหม่ทางรถยนต์ต้องใช้เส้นทางข้ามเขาลี้อันทุลักทุเลลูกนี้ จึงเข้าสู่อำเภอป่าซาง ซึ่งเป็นอำเภอที่มีสาวสวยเยอะมาก จนโด่งดังมีเพลงป่าซาง ของทั้งชรินทร์ นันทนาคร และสุร พล สมบัติเจริญ เส้นทางสายเก่าจะผ่านเข้าตัวจังหวัดลำพูน แล้วก็เข้าสู่จังหวัดเชียงใหม่ ในเส้นทางที่มีต้นยางใหญ่ ๆ สองข้างทาง สมัยก่อนเข้าเชียงใหม่ต้องใช้ถนนสายนี้เพียงสายเดียวเท่านั้น แต่สมัยนี้เขาพากันไปใช้เส้นทางผ่านจังหวัดลำปางกันหมดแล้ว
ปัจจุบันนี้เส้นทางขึ้นเขาลี้ ราดยางราบเรียบ แต่ยังคงคดเคี้ยวเหมือนเดิม จึงมีผู้ใช้เส้นทางสายนี้น้อยมาก เว้นแต่จะไปเที่ยวพระบาทห้วยต้ม กับพระบาทตากผ้า หรือไปเที่ยวอำเภอป่าซาง ย้อนอดีต หรืออาจต้องการเดินทางไปเที่ยวอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพลตอนเหนือ แถวอำเภอดอยเต่า อำเภอจอมทอง และอำเภอฮอด หรือไปจังหวัดแม่ฮ่องสอน ในเส้นทางสายเก่า
พูดถึงเส้นทางขึ้นเขาลี้มาเสียยืดยาว เราไปเที่ยว ไหว้พระ ไหว้เจดีย์ที่วัดพระบาทห้วยต้มกันดีกว่า สืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับพระบาทห้วยต้ม จากอินเตอร์ เน็ต ได้ข้อมูลว่า
วัดพระบาทห้วยต้ม ตั้งอยู่หมู่ที่ 8 ตำบลนาทราย ห่างจากตัวอำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ประมาณ 10 กิโลเมตร ถ้าขับรถมาจากอำเภอเถิน เมื่อรถผ่านเขาอันคดเคี้ยว และลงสู่พื้นราบแล้ว ก็จะถึงทางแยกเข้าพระบาทห้วยต้มก่อนถึงอำเภอลี้ มีแยกจากทางหลวงหมายเลข 106 (เถิน- ลี้ - ลำพูน) บริเวณกิโลเมตรที่ 46 - 47 เข้าไปประมาณ 5 กิโลเมตร
“บ้านห้วยข้าวต้ม” ซึ่งต่อมาเรียกห้วยต้ม เป็นที่มาของชื่อวัดแห่งนี้ เดิมทีไม่ได้เป็นชุมชนของชนเผ่าปกาเกอะญอ หรือกระเหรี่ยงแต่อย่างใด แต่ที่มีชนเผ่ากระเหรี่ยงมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นี่ซึ่งเป็นพื้นที่ราบ จำนวนถึง 600 หลังคาเรือน หรือจำนวน 3,000 คน ก็เพราะเมื่อปี 2514 หลังจากที่ทางราชการสร้างเขื่อนยันฮี หรือเขื่อนภูมิพล เสร็จสิ้น น้ำเริ่มเต็มอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อน ทำให้พวกชาวเขาเหล่านี้ไม่มีที่ทำกิน จึงได้อพยพครอบครัวมาตั้งถิ่นที่บ้านห้วยข้าวต้ม และบริเวณที่ดินแถวนี้ก็เต็มไปด้วยหินศิลาแลง จึงได้มีการนำหินเหล่านี้จำนวนมากมาสร้างโบสถ์และเจดีย์ โดยการนำของพระครูบาชัยยะวงศา พระอาจารย์ชื่อดังทางภาคเหนือที่ชนเผ่ากระเหรี่ยงศรัทธา ได้ร่วมกันพัฒนาวัดแห่งนี้ให้ใหญ่โต จนปัจจุบันนี้เต็มไปด้วย โบส์ วิหาร และ พระเจดีย์ 84,000 พระธรรมขันธ์ สร้างเสร็จเมื่อปี 2523 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเจิมหินเพื่อบรรจุในองค์พระเจดีย์
ก่อนถึงวัดพระบาทห้วยต้ม ประมาณ 500 เมตร จะเห็น “พระมหาธาตุเจดีย์ศรีเวียงชัย” โดยพระครูบาชัยยะวงศา ซึ่งชาวบ้านพากันเรียกว่า เจดีย์ ชเวดากองของไทย แต่ดู ๆ แล้วไม่เหมือนกับเจดีย์ชเวดากองของพม่าเอาเสียเลย ทั้งศิลปะก็คนละรูปแบบ จึงไม่น่า หรือไม่เหมาะ ที่จะเรียกให้เป็นเจดีย์ชเวดากองของไทย ทั้งความใหญ่โต รูปลักษณ์ และส่วนประกอบหลาย ๆ อย่าง ก็แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
ในบริเวณวัดวัดมีสิ่งก่อสร้างเจดีย์ขาวทรงเหลี่ยม เจดีย์ทอง สถูป หอเก็บพระตรัยปิฏก วิหารระเบียงคต มีภาพประวัติพระนางจามเทวี ต่อสู้กับข้าศึก ยาวตลอดแนวระเบียง ท่องเที่ยววัดนี้มีสิ่งก่อสร้างมากมายจนแน่นวัด ใครที่ชอบถ่ายภาพจะไม่ผิดเลย เพราะมีโบสถ์ วิหาร เจดีย์ ให้เลือกถ่ายภาพได้อบย่างจุใจ เชิญชมภาพหลากหลายมุมมอง ในวัดพระบาทห้วยต้ม ได้แล้วครับ !
สิ่งก่อสร้าง โบสถ์ วิหาร เจดีย์ มากมายในวัดพะบาทห้วยต้ม
ศาลเจ้าใกล้ทางลงไปบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์
วิหารครอบพระพุทธบาทจำลอง
เจดีย์ทอง 84,000 พระธรรมขันธ์ และเจดีขาวทรงเหลี่ยม
ซุ่มประตูระเบียงคต มีภาพพุทธประวัติ และภาพประวัติพระนางจามเทวี
เจดีย์ 84,000 พระธรรมขันธ์
สถูป (ขวา) และหอเก็บพระไตรปีฏก (ซ้าย)
สถูปและเจดีย์ มุมมองใต้ร่มไม้
เกวียนทางภาคเหนือ และกลองสะบัดชัย
ภาพประวัติพระนางจามเทวี เขียนไว้ตามผนังระเบียงคต
พม่ายกทัพมาประชิดกำแพงเมือง
พระนางจามเทวีรวบรวมไพร่พลออกรบ
พระนางจามเทวี ต่อสู้กับเจ้าชายโกสัมพี
ภาพการรบพุ่งกันอย่างดุเดือด
|